วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

นวัตกรรม


กล้องจุลทรรศน์วงจรปิด
ผู้สร้างและพัฒนา นายไพรัตน์ เนียมประเสริฐ และ นางยุพิน เนียมประเสริฐ

ที่มาของปัญหาและเหตุผล
ปัจจุบันการเรียนการสอนในวิชาชีววิทยามีบางเนื้อหาที่จำเป็นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อศึกษารายละเอียดของสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็ก ซึ่งจำนวนกล้องที่ใช้ในการศึกษาไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน ทำให้เสียเวลาในการเรียนการสอนมาก ภาพที่ได้ไม่ชัดเจนและมีขนาดเล็ก นักเรียนไม่รู้ว่าครูเน้นตรงจุดใดของภาพ ทำให้สื่อสารไม่ตรงกัน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงคิดนำเอากล้องวงจรปิดมาประกอบเป็นกล้องจุลทรรศน์วงจรปิด ซึ่งกล้องวงจรปิดมีคุณสมบัติสามารถแปลงสัญญาณภาพเป็นสัญญาณไฟฟ้าได้ โดยภายในกล้องมีแผ่น CCD (Charge Coupled Device) ซึ่งมีความไวแสงสูง คือ ถ้ามีปริมาณแสงน้อยก็จะมองภาพได้ชัดเจน และนอกจากนั้นกล้องจุลทรรศน์วงจรปิดยังสามารถทำให้นักเรียนได้เรียนพร้อมกันทั้งห้องโดยใช้กล้องจุลทรรศน์เพียงตัวเดียว ภาพมีขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน และนักเรียนมีความสนใจในการเรียนยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าจึงคิดว่ากล้องจุลทรรศน์วงจรปิดจะสามารถช่วยในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้
หลักการและแนวคิดการสร้างและพัฒนานวัตกรรม
ได้ทำการประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์วงจรปิด โดยนำกล้องวงจรปิดขนาดเล็ก ที่ใช้ป้องกันขโมยมาประยุกต์ใช้ทำกล้องจุลทรรศน์วงจรปิด เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในวิชาชีววิทยา โดยออกแบบช่องเลนส์ตาของกล้องจุลทรรศน์ให้สามารถนำกล้องวงจรปิดขนาดเล็กเข้าไปรับภาพแทนตา และต่อสัญญาณจากกล้องวงจรปิดกับทีวี เพื่อให้ได้ภาพที่มีขนาดใหญ่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับร่วมกล้องจุลทรรศน์ที่ทำให้สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจน
2. เพื่อเป็นการแก้ปัญหาของจำนวนกล้องจุลทรรศน์ที่ไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน
3. เพื่อให้นักเรียนสามารถมองเห็นส่วนที่ครูอธิบายในภาพจากกล้องจุลทรรศน์ได้พร้อมกันทั้งห้องเรียน ทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างครูกับนักเรียน

กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์
1. ครู และนักเรียน ที่ใช้กล้องจุลทรรศน์วงจรปิดในการเรียนการสอนวิชาชีววิทยา
2. โรงเรียนมีอุปกรณ์ที่ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่มีราคาถูก และมีประสิทธิภาพ

วัสดุอุปกรณ์
1. กล้องจุลทรรศน์ไฟฟ้าชนิดกระบอกตาคู่ 1 ตัว
2. กล้องวงจรปิดขนาดเล็ก 1 ตัว
3. สายต่อสัญญาณทีวี 1 ชุด
4. ท่อ PVC ชนิดข้อต่อลด 1 ท่อ
5. ท่อ PVC ชนิดครอบปิดท่อ 1 ท่อ

วิธีดำเนินการและขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรม
1. ศึกษาการทำงานของกล้องวงจรปิดขนาดเล็ก
2. ออกแบบช่องเลนส์ตาให้สามารถยึดติดกับกล้องจุลทรรศน์
3. ประกอบกล้องวงจรปิดขนาดเล็กกับช่องเลนส์ตาของกล้องจุลทรรศน์ และปรับความคมชัดของภาพที่กล้องวงจรปิด
4. ต่อสายสัญญาณภาพเข้าทีวี
5. ทดสอบการทำงานของกล้องจุลทรรศน์วงจรปิดกับนักเรียนที่เรียนวิชาชีววิทยา
ประโยชน์และคุณค่า
โรงเรียนมีกล้องจุลทรรศน์วงจรปิดที่ใช้ในการเรียนการสอนวิชาชีววิทยา ที่ทำให้นักเรียนสามารถเห็นภาพได้ชัดเจน ครูสามารถอธิบายภาพที่เกิดจากกล้องจุลทรรศน์ได้พร้อมกันทั้งห้องเรียน โดยใช้กล้องจุลทรรศน์เพียงตัวเดียว ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อกล้องจุลทรรศน์ที่มีราคาสูง