วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

จดหมายข่าวประชาสัมพันธ์ ร.ร.หนองน้ำใสพิทยาคม


เสียงประทัด ปัง ปัง เป็นการแจ้งเตือนว่า ใกล้เทศกาลลอยกระทง ทำให้นึกถึงความรื่นเริง สนุกสนาน การทำบุญ เป็นวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของไทยที่สืบทอดต่อกันมา แต่เด็กปัจจุบันได้ใช้ความคึกคะนอง สร้างความสนุกสนานตื่นเต้น จากข้อมูลสืบพบและน่าเป็นห่วง คือมีการ ทำดินปืนขึ้นใช้เอง การเล่นประทัดยักษ์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือพิการ
หลังจากเสร็จสิ้นการสอบปลายภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนปิดภาคเรียน ในวันที่ 2 – 31 ตุลาคม 2552 และเปิดภาคเรียน วันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 ระยะเวลา 1 เดือนเต็ม โรงเรียนส่งนักเรียนให้ผู้ปกครองรับผิดชอบ ดูแลพฤติกรรม ไม่ควรให้เด็กว่าง ควรหางาน หรือให้ไปช่วยผู้ปกครอง ทำงานเพื่อมีรายได้ มิฉะนั้นเด็กจะว่าง และจะใช้เวลาว่าง ดังกล่าวไปมั่วสุมกับเพื่อนๆ ทุกวันนี้การสื่อสารสะดวกรวดเร็วและตามมาด้วยข้ออ้างสารพัดของเด็กที่จะหาวิธีการ ไปพบกัน ผลกระทบที่ตามมา คือเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น การทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ ชู้สาว และยาเสพติด
ปิดภาคเรียนนี้ ฝากท่านผู้ปกครองได้กำชับการดูแล เอาใจใส่ ลูกหลานของท่าน และได้โปรดใช้โอกาสเวลาที่มีนี้ สร้างความสัมพันธ์ของครอบครัว ให้ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจในครอบครัว ดึกลูกจากเพื่อนกลับมาสู่อ้อมอกของเรากลับคืนให้ได้

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

นวัตกรรม


กล้องจุลทรรศน์วงจรปิด
ผู้สร้างและพัฒนา นายไพรัตน์ เนียมประเสริฐ และ นางยุพิน เนียมประเสริฐ

ที่มาของปัญหาและเหตุผล
ปัจจุบันการเรียนการสอนในวิชาชีววิทยามีบางเนื้อหาที่จำเป็นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อศึกษารายละเอียดของสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็ก ซึ่งจำนวนกล้องที่ใช้ในการศึกษาไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน ทำให้เสียเวลาในการเรียนการสอนมาก ภาพที่ได้ไม่ชัดเจนและมีขนาดเล็ก นักเรียนไม่รู้ว่าครูเน้นตรงจุดใดของภาพ ทำให้สื่อสารไม่ตรงกัน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงคิดนำเอากล้องวงจรปิดมาประกอบเป็นกล้องจุลทรรศน์วงจรปิด ซึ่งกล้องวงจรปิดมีคุณสมบัติสามารถแปลงสัญญาณภาพเป็นสัญญาณไฟฟ้าได้ โดยภายในกล้องมีแผ่น CCD (Charge Coupled Device) ซึ่งมีความไวแสงสูง คือ ถ้ามีปริมาณแสงน้อยก็จะมองภาพได้ชัดเจน และนอกจากนั้นกล้องจุลทรรศน์วงจรปิดยังสามารถทำให้นักเรียนได้เรียนพร้อมกันทั้งห้องโดยใช้กล้องจุลทรรศน์เพียงตัวเดียว ภาพมีขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน และนักเรียนมีความสนใจในการเรียนยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าจึงคิดว่ากล้องจุลทรรศน์วงจรปิดจะสามารถช่วยในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้
หลักการและแนวคิดการสร้างและพัฒนานวัตกรรม
ได้ทำการประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์วงจรปิด โดยนำกล้องวงจรปิดขนาดเล็ก ที่ใช้ป้องกันขโมยมาประยุกต์ใช้ทำกล้องจุลทรรศน์วงจรปิด เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในวิชาชีววิทยา โดยออกแบบช่องเลนส์ตาของกล้องจุลทรรศน์ให้สามารถนำกล้องวงจรปิดขนาดเล็กเข้าไปรับภาพแทนตา และต่อสัญญาณจากกล้องวงจรปิดกับทีวี เพื่อให้ได้ภาพที่มีขนาดใหญ่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับร่วมกล้องจุลทรรศน์ที่ทำให้สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจน
2. เพื่อเป็นการแก้ปัญหาของจำนวนกล้องจุลทรรศน์ที่ไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน
3. เพื่อให้นักเรียนสามารถมองเห็นส่วนที่ครูอธิบายในภาพจากกล้องจุลทรรศน์ได้พร้อมกันทั้งห้องเรียน ทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างครูกับนักเรียน

กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์
1. ครู และนักเรียน ที่ใช้กล้องจุลทรรศน์วงจรปิดในการเรียนการสอนวิชาชีววิทยา
2. โรงเรียนมีอุปกรณ์ที่ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่มีราคาถูก และมีประสิทธิภาพ

วัสดุอุปกรณ์
1. กล้องจุลทรรศน์ไฟฟ้าชนิดกระบอกตาคู่ 1 ตัว
2. กล้องวงจรปิดขนาดเล็ก 1 ตัว
3. สายต่อสัญญาณทีวี 1 ชุด
4. ท่อ PVC ชนิดข้อต่อลด 1 ท่อ
5. ท่อ PVC ชนิดครอบปิดท่อ 1 ท่อ

วิธีดำเนินการและขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรม
1. ศึกษาการทำงานของกล้องวงจรปิดขนาดเล็ก
2. ออกแบบช่องเลนส์ตาให้สามารถยึดติดกับกล้องจุลทรรศน์
3. ประกอบกล้องวงจรปิดขนาดเล็กกับช่องเลนส์ตาของกล้องจุลทรรศน์ และปรับความคมชัดของภาพที่กล้องวงจรปิด
4. ต่อสายสัญญาณภาพเข้าทีวี
5. ทดสอบการทำงานของกล้องจุลทรรศน์วงจรปิดกับนักเรียนที่เรียนวิชาชีววิทยา
ประโยชน์และคุณค่า
โรงเรียนมีกล้องจุลทรรศน์วงจรปิดที่ใช้ในการเรียนการสอนวิชาชีววิทยา ที่ทำให้นักเรียนสามารถเห็นภาพได้ชัดเจน ครูสามารถอธิบายภาพที่เกิดจากกล้องจุลทรรศน์ได้พร้อมกันทั้งห้องเรียน โดยใช้กล้องจุลทรรศน์เพียงตัวเดียว ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อกล้องจุลทรรศน์ที่มีราคาสูง